รัชกาลที่ ๙ ขณะทรงประทับ ณ สวิตเซอร์แลนด์ | SWISS FANCLUB
Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat.

รัชกาลที่ ๙ ขณะทรงประทับ ณ สวิตเซอร์แลนด์

หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา ได้ทรงประทับอยู่เมืองไทย กระทั่งมีพระชนมายุ ๕ พรรษา จึงทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ

กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) ในวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ หากไม่นับโรงแรม Windsor และบ้านเลี้ยงเด็กชองโซเลย์ อันเป็นที่พำนักชั่วคราวแฟลตเลขที่ ๑๖ ถนนทิสโซ่ต์ คือบ้านหลังแรก ของครอบครัวมหิดล

“แฟลตที่แม่เช่าไว้อยู่เลขที่ ๑๖ ถนนทิสโซ่ต์ อยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมือง เดินสัก ๑๕ นาทีก็ถึงแต่ก็เงียบดี เป็นตึกใหญ่ที่มีแฟลตหลายชุด แม่เช่าแฟลตชั้นหนึ่งอยู่ที่ชั้นล่างเพราะเกรงว่าลูกอาจรบกวนคนที่พักอยู่ข้างใต้ด้วยการวิ่งหรือกระโดด ใต้แฟลตของเรายังมีโรงรถอีก….แฟลตนี้มีเฉลียงยาว ถ้าอากาศดีเราชอบอยู่ที่เฉลียงนี้กันโดยเฉพาะน้องสองคน”

การเดินทาง ไป แฟลตเลขที่ 16
»»» ออกจากหน้าสถานีรถไฟ Lausanne แล้วเดินมาทางขวา จนถึง Avenue d’Ouchy แล้วเลี้ยวขวาลงไปในทิศที่มองเห็นทะละสาบ จากนั้นจะเจอถนน Avenue Auguste-Tissot อยู่ซ้ายมือ ให้เดินตามถนนขึ้นไปจนถึงแฟลตเลขที่ ๑๖ ซึ่งจะอยู่ทางขวามือที่สุดถนน หรือถ้าจะนั่งรถเมลล์ ให้ลงป้ายที่ชื่อว่า Lausanne, Alpes

จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเอกอล นูเวล เดอ ลา ซืออีส โรมองต์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) ซึ่งแปลว่า “โรงเรียนใหม่แห่งภาคสวิตเซอร์แลนด์ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส”

“การศึกษาในโรงเรียนไม่เป็นสิ่งที่เพียงพอให้เด็กโตขึ้นเป็นคนดี ครอบครัว ตั้งแต่พ่อแม่ จนถึงพี่น้องกันเองมีส่วนสำคัญ เราสามคนเป็นกำพร้าพ่อมาตั้งแต่เล็กๆ ภาระของแม่จึงหนักมาก ต้องเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ซึ่งแม่ก็ทำหน้าที่นี้มาอย่างเข้มแข็ง …”

การเดินทาง
โรงเรียน Ecole Nouvelle de la Suisse Romande จะอยู่ใกล้กับป้ายรถเมลล์เล็กในซอยชื่อป้าย Lausanne, Rozavère โดยต้องนั่งรถบัสมาลงที่ Le Foyer ก่อนแล้วต่อรถมินิบัสสาย 42 ลงไป หรือจะเดินจากป้าย Le Foyer ลงมาตามถนนในซอย Chemin de Rovéréaz จนถึงโรงเรียนก็ได้ ต่อมาทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ (Bachelier es Lettres) จาก โรงเรียนมัธยมคลาซีค กังโตนาล (Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ และในปีเดียวกันนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ (Université de Lausanne) โดยทรงเลือกศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ และในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ในหลวงท่านได้ทรงเปลี่ยนวิชาศึกษาวิชาใหม่ จากวิทยาศาสตร์ที่ทรงโปรดและถนัดที่สุด เป็นวิชากฎหมาย และการปกครอง เนื่องจากต้องรับพระราชภาระเป็นพระมหากษัตริย์

ภาพชายร่างสูงโย่งที่ฉายคู่กับในหลวงสองพระองค์นั้นคือคุณครูเชื้อสายกรีกผู้มีชื่อว่า เกลย์อง เซไรดารีส  เป็นคุณครูส่วนพระองค์ของเจ้านายเล็กๆ ทั้งสอง ครูเกลย์องเป็นผู้ที่คอยช่วยแนะนำเรื่องต่างๆให้แก่ครอบครัวราชสกุลมหิดล และทำหน้าที่นี้อย่างดีตลอดมาจวบจนวาระที่ท่านเกษียณจากความเป็นครู หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงขึ้นครองราชย์ และครอบครัวที่เคยอาศัยในแฟลตธรรมดา มีความจำเป็นต้องย้ายที่พำนักเพื่อให้สมพระเกียรติ ครูเกลย์องได้แนะนำวิลล่าวัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Pully ทางทิศตะวันออกไม่ไกลจาก Lausanne นัก ให้กับครอบครัวมหิดล อันเป็นบ้านพักที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตของครอบครัวเจ้านายเล็ก

วิลล่าวัฒนา (Villa Vadhana)ป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในสวิตเซอร์แลนด์ เมืองปุยยี นอกเมืองโลซาน หันหน้าไปทางทะเลสาบเจนีวา (ทะเลสาบเลม็อง) และมองเห็นเทือกเขาแอลป์ แม้ปัจจุบัน วิลล่าวัฒนาจะไม่อยู่ในสภาพเดิมที่ครอบครัวราชสกุลมหิดลเคยพำนัก เนื่องจากมีการรื้ออาคารเพื่อเปลี่ยนเป็นอพาร์ทเมนท์ที่อยู่อาศัย แต่บริเวณโดยรอบ ก็ยังมีอาคารเก่าแก่ที่สภาพสมบูรณ์ และสามารถมองเห็นทัศนียภาพของทะเลสาบ Leman ทำให้เราสามารถจินตนาการภาพของ วิลล่าวัฒนาในอดีตได้อย่างไม่ยาก

การเดินทาง
วิธีที่แนะนำคือ นั่งรถเมลล์สาย 8  โดยจุดที่สามารถขึ้นรถเมลล์ทีแนะนำคือ บริเวณ แฟลตเลขที่ 16 ซึ่งจะมีป้ายรถเมลล์ชื่อ Alpes อยู่ใกล้กับแฟลต  หรือจะถ้าใครเดินมาเที่ยวศาลาไทยพระราชทาน เสร็จแล้วให้เดินตามถนนขึ้นเนินไปจนถึงป้ายรถเมลล์ Tour Haldimand จากทั้งสองจุดนี้สามารถนั่งรถสาย 8 ไปลงที่ป้าย Pully Port ได้เลย

เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ รัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคต ทำให้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกัน แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทยเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิมเพื่อให้เหมาะสมกับการนำมาใช้ดูแลปวงชนชาวไทย

ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร และต่อมาได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครและโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคมในปีเดียวกัน หลังจากนั้นจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขณะเสด็จฯ จากเมืองโลซาน ไปยังประเทศอิตาลี โดยรถไฟ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔

และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรกคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ (Clinique de Montchoisi) เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔

และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรหลังจากทรงประทับพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๔๗๖ ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔  รวม 18 ปี

ในปี พศ.๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯเยือนประเทศต่างๆในยุโรปอย่างเป็นทางการ พระองค์ทรงเลือกโลซานน์เป็นศูนย์กลางในการเสด็จฯ โดยเมื่อเสร็จสิ้นพระราชกิจในประเทศหนึ่งแล้ว ก็จะทรงกลับมาประทับที่โลซานน์ก่อนเสด็จฯอีกประเทศหนึ่ง

ระหว่างนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ที่ตามเสด็จฯก็จะประทับอยู่ที่โลซานน์และเป็นโอกาสที่จะได้ทรงทำความรู้จักคุ้นเคยกับเมืองที่ครอบครัวของทุกพระองค์โปรดมาก

การเสด็จเยือนโลซานน์ในปี ๒๕๐๓ ถือเป็นครั้งสุดท้ายของพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากอีกสองสามปีต่อมา ในหลวงตัดสินพระทัยที่จะทุ่มเทพระวรกายเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่และจะไม่เสด็จฯออกนอกประเทศอีก

ที่มา
https://pantip.com/topic/36509368

ภาพความทรงจำ รัชกาลที่ ๙ ขณะทรงประทับ ณ สวิตเซอร์แลนด์

No Comments

Post A Comment